สตรีอาเซียนพร้อมรับ AEC หรือยัง ?

 

การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของประเทศไทยในปี พ.ศ.2558 ส่งผลให้ประเทศไทย และสมาชิกอาเซียนอีก 9 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน ฟิลิปปินส์ พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม กำลังปรับตัวเพื่อเตรียมรับกับเหตุการณ์นี้อย่างเต็มรูปแบบในทุกมิติ สำหรับประเทศไทยได้บรรจุแผนการรับมือเรื่องนี้ไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) โดยกำหนดแนวทางการเตรียมความพร้อม ทั้งในด้านความมั่นคง สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การท่องเที่ยวการศึกษา ฯลฯ และยังพยายามกระตุ้นให้ทุกองค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชน ร่วมกันสร้างแนวทางเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนดำเนินไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับประเด็นความพร้อมในด้านสถานภาพและบทบาทสตรีของไทยในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อาจจะดูเหมือนยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ถึงแม้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จะมีความพัฒนาโอกาสและบทบาทของสตรีในตลาดแรงงานมากขึ้น เพิ่มโอกาสและพัฒนาคุณภาพการประกอบอาชีพมากขึ้น แต่ในสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยก็ยังคงพบเห็นความด้อยและความเหลื่อมล้ำในเชิงโอกาสของสตรีไทยปรากฏอยู่ทั่วไป

คณะอนุกรรมาธิการด้านสตรี ในคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “เดินหน้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ปี 2558: การเตรียมความพร้อมและความร่วมมือของผู้หญิงอาเซียน” ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและติดตามกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีสู่การเป็นประชาคมอาเซียน และมูลนิธิฟรีดิช เนามัน ประเทศไทย

              นางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาระดับท้องถิ่นมากขึ้น ความไม่เท่าเทียมทางเพศต้องถูกขจัดให้หมดสิ้นไป โดยเริ่มตั้งแต่โรงเรียนชั้นประถมและมัธยม โดยรัฐบาลไทยกำลังขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี 100 ล้านบาทต่อจังหวัด เพื่อใช้ในการพัฒนาศักยภาพของสตรีระดับท้องถิ่น และเพื่อส่งเสริมพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิต

ผู้แทนสตรีจากประเทศสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วมสัมมนาได้แสดงความเห็นและสะท้อนปัญหาที่คล้ายกันของภูมิภาค เช่น
ผู้แทนสตรีจากมาเลเซียตั้งข้อสังเกตว่าปัจจุบันผู้หญิงมีความมั่นคงทางด้านการเงินและการศึกษา แต่ยังต้องพัฒนาบทบาทในสังคมอีกหลายประการ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้หญิงทุกระดับในสังคมสามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์ เพื่อเปิดโอกาสให้ได้รับการศึกษา และสามารถสะท้อนความคิดเห็นของตัวเองสู่สังคมได้มากขึ้น

              ผู้แทนจากสิงคโปร์ กล่าวว่า ประเทศสิงคโปร์ไม่มีรัฐมนตรีหญิง และที่นั่งของผู้หญิงในรัฐสภาก็มีน้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น การให้การศึกษาให้มากที่สุด จะช่วยให้ผู้หญิงตระหนักถึงสิทธิและบทบาทของตนเอง และรู้จักการเรียกร้องสิทธิ์มากขึ้น ส่วนตัวแทนจากฟิลิปปินส์ให้ความสำคัญในเรื่องโครงสร้างทางกฎหมายที่ไม่เท่าเทียมทางเพศ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ และเห็นว่าเรื่องเงินก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนามนุษย์ ส่วนผู้แทนจากพม่าและเวียดนามก็มีความเห็นที่คล้ายกัน คือต้องการเร่งสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ความรู้ทางการเมือง และสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของตนเอง

สาระสำคัญอย่างหนึ่งที่ได้จากการสัมมนาครั้งนี้คือ ปัญหาหลักของสตรีในกลุ่มประเทศอาเซียนมีความคล้ายคลึงกันมาก เช่น ปัญหาการขาดเงินทุน ขาดแคลนความรู้ขาดโอกาส และมีความเหลื่อมล้ำทางเพศ สตรีในชนบทยังต้องเผชิญกับนานาปัญหาในการดำรงชีพ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้สตรีไม่ให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับปัญหาโครงสร้างกฎหมาย เรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ หรือแม้แต่สิทธิ์ขั้นพื้นฐานของตนเอง

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม 2555

http://www.naewna.com/lady/columnist/2537